การไหว้เจ้า












วิธีไหว้เจ้าที่ถูกต้อง อ่านแล้วจัดโต๊ะไหว้เจ้าเป็น ชีวิตก็เฮง เฮง เฮง!
เปิดคู่มือการจัดโต๊ะไหว้เจ้าตั้งแต่ตรุษจีน เช็งเม้ง ยันวันสารทจีน ถึงความหมายของพิธี วิธีไหว้เจ้า ของเซ่น การปักธูปให้ถูกทิศ ไหว้ดี ไหว้ถูก ชีวิตเฮง เฮง เฮง!
22 ม.ค. 2019 · โดย faywhale
เคยงงกันไหม? ถึงวันไหว้เจ้าตรุษจีน วันสารทจีน วันไหว้พระจันทร์ และอีกสารพัดเทศกาลไหว้เจ้าทีไร เป็นต้องเหวอกับการจัดโต๊ะไหว้เจ้ามาพร้อมกับขั้นตอนสารพัดจนวัยรุ่นชาวไทยเชื้อสายจีนเดี๋ยวนี้งงกันไปหมด แต่ไม่ต้องห่วง Wongnai จะช่วยให้หายงงเอง เรามีวิธีไหว้เจ้า ไหว้บรรพุบุรษ และไหว้สัมภเวสี สำหรับเทศกาลสำคัญต่าง ๆ บ้านไหนสะดวกไหว้แบบไหนตามมาดูกัน ไหว้ถูกงานนี้อากงอาม่าไม่กริ้ว แถมชีวิตเอง เฮง เฮงแน่นอน!

“เจ้า” คือใคร ทำไมต้องไหว้

“เจ้า” ในที่นี้คือ เจ้าที่เจ้าทาง ที่คุ้นเคยกันดีก็คือตี่จู๋เอี๊ยะ และเทพเจ้าที่ชาวจีนต่างนับถือ การไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมที่ถือสืบทอดปฏิบัติกันมายาวนานกว่า 3,000 ปี นับตั้งแต่ราชวงศ์โจว เพื่อให้เป็นสิริมงคลเจริญรุ่งเรือง นำพาความสุข ให้แก่ตนเอง และครอบครัว ทั้งด้านชีวิต สุขภาพ การงาน หรือธุรกิจ และไม่ใช่แค่เทพเจ้า ชาวจีนยังไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญู ซึ่งจะไหว้ก็ต่อเมื่อถึงวันสิ้นปี วันขึ้นปีใหม่ และวันสำคัญตามเทศกาลระหว่างปีต่าง ๆ

ทั้งเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาว่าในหนึ่งปีจะมีเรื่องกวนตัวกวนใจ ทำให้การดำเนินชีวิตไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ ทำให้เกิดเป็นธรรมเนียมพึ่งพาทางใจไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

ของเซ่นไหว้เจ้า

ไม่ใช่ว่าเรายกมือไหว้เจ้าที่แล้วจบ ถ้าชีวิตอยากเฮงต้องศึกษาการไหว้เจ้าให้ถูกเสียก่อน เพราะของเซ่นไหว้แต่ละชนิดก็มีความหมายดีงามซ่อนอยู่ ซึ่งของเซ่นหลัก ๆ ที่ต้องมีไหว้ได้แก่ ของคาว ขนม ผลไม้ เครื่องดื่ม รวมไปถึงกระดาษเงินกระดาษทอง ซึ่งทุกเทศกาลงานไหว้เปิดด้วยการไหว้เจ้าที่ช่วงเช้า ไหว้บรรพบุรุษช่วงสาย และไหว้สัมภเวสีช่วงบ่าย

ตำแหน่งของไหว้เจ้า ให้เริ่มจากแท่นบูชาหรือเทวรูป ถัดมาเป็นเครื่องหอมบูชาอย่างธูป ตามด้วยถ้วยข้าว เครื่องดื่ม จากนั้นจึงเป็นอาหารคาว ของหวาน ผลไม้ และที่ขาดไม่ได้เลยคือกระดาษเงินกระดาษทอง

1ไหว้เทพเจ้า


เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบด้วย ของคาว ซาแซ (เนื้อสัตว์สามชนิด) หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม และเป็ดต้มหรือบ้านไหนมีกำลังมากหน่อยไหว้ด้วย โหงวแซ (เนื้อสัตว์ห้าชนิด) เพิ่มตับ ปลา ปลาหมึกแห้ง หรือไข่ต้ม ของไหว้ทั้งหมดจะไหว้เต็มตัว ห้ามสับไก่ หั่นเป็ดมาไหว้นะจ๊ะ และข้าวสวย 5 ที่

ขนมไหว้ ได้แก่ ฮวกก้วย (ขนมถ้วยฟู), คักท้อก้วย (ขนมกู๋ช่าย), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งต้องเป็นสีชมพูหรือมีจุดแดง และขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่งกับขนมเทียน

ผลไม้ 5 ชนิดหลัก ได้แก่ ส้ม กล้วย สับปะรด องุ่น และแก้วมังกร ส่วนผลไม้ต้องห้ามคือผลไม้สีดำหรือขาว เช่น องุ่นดำ เชอร์รีสีดำ เพราะสื่อถึงการไว้ทุกข์ไม่เป็นสิริมงคลกับชีวิต

เครื่องดื่ม น้ำชา และเหล้าจีน 5 ที่

เครื่องสักการะเทพเจ้า กิมฮวย (เครื่องประดับกระถางธูปหางนกยูง) ผ้าแพรแดง และธูปสำหรับไหว้เพื่อเสริมความเป็นมงคลให้แก่ผู้ไหว้ ซึ่งคนจีนยังถือว่าเหมือนเป็นการแต่งองค์ทรงเครื่องให้เทพเจ้างามสง่าก่อนกลับขึ้นสวรรค์ ได้แก่

กระดาษเงินกระดาษทอง ตามความเชื่อที่ว่าเมื่อเราไหว้สิ่งใดไปก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมา เครื่องเซ่นเงินทองจึงมาทุกหน้าเทศกาล ได้แก่ เทียงเถ่าจี๊ กระดาษเงินกระดาษทองแผ่นใหญ่ตัดด้วยกระดาษแดงเป็นตัวอักษรที่แปลว่าโชคดี มักเซ่นคู่กับหงิ่งเต้า (ถังเงินถังทอง) และบ่อยครั้งเวลาไหว้เจ้าทีไร อาม่ามักจะให้พับกิมจั๊ว กระดาษเงินกระดาษทองเป็นรูปดอกไม้ก่อนไหว้เสมอ ปิดท้ายด้วยตั้วกิม กระดาษเงินกระดาษทองขอบส้ม

2ไหว้บรรพุบุรุษผู้ล่วงลับ


การไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ สามารถใช้ชุดไหว้เจ้าเดียวกับที่ไหว้เทพเจ้าได้เลย ง่าย ๆ คือตื่นแต่เช้ามืดเตรียมของไหว้เทพเจ้า สายหน่อยเพิ่มเมนูที่บรรพบุรุษชื่นชอบ โดยควรมีเมนูน้ำแกง อาหารที่ทำจากเส้นยาว ๆ หรือขนมน้ำใส ๆ ตามความเชื่อว่าอาหารเส้นยาว ๆ จะทำให้อายุยืน จัดตามจำนวนผู้ล่วงลับ และเพิ่มกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับบรรพบุรุษลงไปในชุดไหว้ด้วย

กระดาษเงินกระดาษทอง ตามความเชื่อเราต้องเผาอ่วงแซจิ่ว (ใบเบิกทาง) ก่อนเป็นอย่างแรก เพื่อเบิกทางให้สิ่งของที่เราไหว้ไปถึงมือบรรพบุรุษ ต่อด้วยแท่งทองกิมเตี๊ยว, ค้อซี (กระดาษทอง), ตั้วกิม (กระดาษเงินกระดาษทอง) ซึ่งต้องพับเป็นรูปเรือทั้งคู่ ตามความเชื่อว่าจะมีมูลค่าสูงสุด และที่เราคุ้นกันดี๊ดี แบงก์กงเต๊ก จะแบงก์ร้อยล้าน จะเหรียญเงิน เหรียญทอง หรือสมาร์ทโฟน สี่จี ห้าจี ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงรถหรูซูเปอร์คาร์ก็ได้หมดตามสะดวก

3ไหว้สัมภเวสี


เครื่องเซ่นไหว้สัมภเวสี คล้ายของเซ่นบรรพชน แต่ถ้าไหว้ผีจะปูเสื่อไหว้ที่พื้น และใช้ของคาวหวานที่เหลือจากการใส่จานไหว้ใช้เซ่น โดยจะมีเผือกนึ่งหรือเผือกเชื่อมน้ำตาล ข้าวสารปักยอดอ่อนใบทับทิม ไหว้เสร็จให้จุดประทัดไล่สิ่งชั่วร้าย และเพื่อเป็นสิริมงคล

4การปักธูปเรียกเจ้าและบรรพชน


การปักธูปไหว้ เมื่อจัดแจงของไหว้เสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาจุดธูปบอกกล่าวท่านเทพ ท่านบรรพชนให้มารับของเซ่นไหว้ ซึ่งการจุดธูปก็เป็นการสักการะด้วยเครื่องหอมอย่างหนึ่ง คู่กันไปกับการจุดเทียนแดงขาไม้ที่เป็นการบูชาด้วยแสงสว่าง โดยการไหว้เจ้าใช้ธูป 5 ดอก ไหว้บรรพบุรุษที่เสียนานแล้ว 3 ดอก สำหรับบรรพบุรุษที่เพิ่งเสียได้ไม่นานใช้ธูป 1 ดอก

5ของไหว้พิเศษเฉพาะเทศกาล
5.1วันไหว้พระจันทร์ - ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8

วันไหว้พระจันทร์ เพราะเทศกาลมงคลไม่ได้มีแค่วันตรุษจีน เช็งเม้ง หรือวันสารทจีนเท่านั้น เพราะชาวจีนยังมีวันไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงเต็มดวงงดงามที่สุดของปี เป็นวันที่ตัวแทนแห่งดวงจันทร์จะลงลงทัณฑ์แกเอง...เอ้ยยย ไม่ใช่ค่ะ! เป็นการฉลองฤดูเก็บเกี่ยวต่างหาก และยังถือเป็นครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาด้วย

ของไหว้เจ้า ส่วนเรื่องของไหว้ให้จัดตามปกติสำหรับไหว้เจ้า และบรรพบุรุษ ส่วนตอนค่ำจัดของไหว้สำหรับไหว้เจ้าแม่พระจันทร์ เริ่มจากทำซุ้มอันสวยงามจากอ้อยกันก่อน ตามด้วยเครื่องเซ่นไหว้ของคาวอาหารเจ 5 อย่าง คือ วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม และฟองเต้าหู้ ส่วนผลไม้ให้เพิ่มเติมส้มโอลูกใหญ่ ลูกโต ลูกสวย เข้าไปด้วย และขนมโก๋ สำหรับน้ำชาให้จัด 5 ที่ ตามเดิม

ขนมไหว้พระจันทร์ ไส้อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ไข่เค็ม และไส้โหงวยิ้ง เพราะไม่ใช่ของเจ และให้ไหว้เป็นจำนวนคู่นะจ๊ะ เพราะชาวจีนเชื่อว่าการไหว้พระจันทร์ให้มีคู่ก็ต้องจัดของเป็นคู่ด้วย

ของไหว้เสริมเสน่ห์สำหรับผู้หญิง อย่างที่รู้กันว่าพระจันทร์คือสัญลักษณ์ของผู้หญิง การไหว้พระจันทร์จึงถือเป็นการเสริมเสน่ห์อย่างหนึ่ง โดยจัดข้าวของเครื่องใช้แบบผู้หญิ้งผู้หญิงมาไหว้ เช่น กระจก ผ้าเช็ดหน้า ลิปสติก ฯลฯ

กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมธูป 3 ดอก หรือจะใช้เป็นธูปมังกรดอกใหญ่ดอกเดียว และเทียนแดงขาไม้ ซึ่งหลังจากเสร็จพิธีจะต้องตัดแบ่งขนมไพว้พระจันทร์ในปริมาณเท่ากันทุกชิ้นกับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามขาดห้ามเกินเด็ดขาดนะ!

5.2วันไหว้บ๊ะจ่าง - ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5

วันไหว้บ๊ะจ่าง ตรงกับวันที่ 5 เดือน 5 ถือเป็นเทศกาลโปรดเลยค่ะ เพราะบ๊ะจ่างนั้นมีรสชาติเป็นเลิศ! ที่มาที่ไปก็คือมีขุนนางกระโดดน้ำตายเพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง ชาวบ้านจึงต่างพากันเตรียมข้าวปลาอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเพื่อเซ่นไหว้ และระลึกถึงความดีของขุนนางนั้น จากข้าวปลาอาหารที่โปรยลงน้ำก็กลายมาเป็นบ๊ะจ่างรสกลมกล่อมที่แค่กินอันเดียวก็อิ่มท้องแล้ว

ของไหว้เจ้า จัดตามธรรมเนียมคือช่วงเช้าไหว้เจ้า ช่วงสายไหว้บรรพบุรุษ จัดไหว้อย่างดีอย่างเดิม ที่เพิ่มเติมคือบ๊ะจ่าง โดยทำด้วยข้าวเหนียวผัดน้ำมัน ใส่ไส้หมูเค็ม กุนเชียง ไข่แดงเค็ม กุ้งแห้ง เห็ดหอม แปะก๊วย แล้วห่อด้วยใบไผ่ นำไปนึ่งให้สุก เท่านี้ก็จะได้บ๊ะจ่างลูกโตมาไหว้แล้ว

คู่มือวิธีไหว้เจ้าฉบับนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และความสะดวกของแต่ละบ้าน จะเพิ่มหรือลดก็ตามแต่กำลังกับความเชื่อในบ้านนั้น ๆ ซึ่งการไหว้เจ้าเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดต่อกันมายาวนานนับพันปี เป็นสัญลักษณ์ และการพึ่งพาจิตใจอย่างที่ดีงามอย่างหนึ่ง ซึ่งนอกจากวิธีการจัดโต๊ะไหว้เจ้าที่ถูกต้องแล้ว เรายังมีเทคนิคเกี่ยวกับอาหารอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ชนิดของน้ำตาลประเภทต่าง ๆ หรือ แจกฟรี 6 สูตรกาแฟโบราณ  และอีกมากมายเข้าไปดูได้ที่นี่เลย

อ้างอิงhttps://www.wongnai.com/food-tips/how-to-pay-respect-to-spiritual

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติส่วนตัว